Featured Articlesชีวิตในเมลเบิร์นเรื่องควรรู้ เมื่ออยู่เมลเบิร์น

สั่งกาแฟ ยังไงให้เหมือนชาวเมลเบิร์น Order Coffee like Melbournian

สั่งกาแฟ ยังไงให้เหมือนชาวเมลเบิร์น Order Coffee like Melbournian

Melbourne ได้ขึ้นชื่อเป็นเมืองที่มีบาริสต้าฝีมือเยี่ยมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แถมยังมีร้านกาแฟหลากหลายสไตล์ให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟที่ผ่านการคัดสรรและคั่วเมล็ดกาแฟจนหอมกรุ่นพร้อมเสิร์ฟให้ทุกคนได้ลองและลิ้มรส แต่อย่างไรก็ตาม หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปเที่ยว หรือศึกษาต่อที่เมลเบิร์น อาจจะต้องทำการบ้านกับเมนูกาแฟของที่นี่สักนิดนึง เนื่องจากเมลเบิร์นเป็นเมืองคลั่งไคล้กาแฟมาก จึงทำให้มีชื่อเรียกและวิธีการสั่งที่แตกต่างออกไป  อย่า!!! กังวลไป เด็กออสจะมาช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการสั่งกาแฟ สั่งยังไงให้เหมือนชาวเมลเบิร์น – Order Coffee like Melbournian ให้กระจ่างกันเลย

 

Order Coffee melbourne
Melbourne, City of Coffee

กาแฟมีหลากหลายชนิดและหลากหลายแนว แต่สำหรับชาวเมลเบิร์นแล้ว กาแฟไม่ใช่เครื่องดื่มคาเฟอีนที่ดื่มเพื่อทำให้ตื่น แต่เป็นเครื่องดื่มที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมของคนที่นี่ การดื่มกาแฟจึงเปรียบเสมือนเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวเมลเบิร์น หรือแม้แต่เป็นการเข้าสังคมพูดคุยกับผู้คน เช่น ไปทำงาน,  ประชุม,  พบปะสังสรรค์ในหมู่เพื่อนสนิท-มิตรสหาย,  ญาติพี่น้อง หรือจะเป็นโมเม้นท์แบบอินดี้ (Indy) หรือจะฮิปเสตอร์ (Hipster) นั่งจิบกาแฟคนเดียวอ่านหนังสือ, ฟังเพลง หรือการท่องโลกโซเชียล

ดังนั้นการเริ่มต้นในเมลเบิร์น ต้องเริ่มจากการสั่งกาแฟเสมือนเป็น  “คนท้องถิ่นของเมลเบิร์น” ( Order Coffee like Melbournian ) ก่อนอื่นเราจะแนะนำเกี่ยวกับเมล็ดกาแฟ และตามด้วยเมนูกาแฟยอดนิยม  รวมถึงกาแฟสำหรับสายแข็งอีกด้วย

เมล็ดกาแฟมีอยู่สองชนิดคือ Robusta และ Arabica  ในเมลเบิร์นจะมีแต่ Arabica เพราะไม่มีใครดื่ม Robusta ที่มีคาเฟอีนสูง และมีรสชาติที่ขมโดดเด่นมาก จึงไม่เป็นที่นิยมของชาวเมลเบิร์น  ที่หลงใหลในรสชาติที่ซับซ้อนของ Arabica  โดยเมล็ดกาแฟพันธุ์นี้จะมีเอกลักษณ์ของการคั่วหลากหลายแนว แม้แต่การคัดสรรเมล็ดกาแฟก็ทำให้กาแฟมีรสชาติที่แตกต่างออกไปตามสไตล์ในแต่ละที่  ในเรื่องของขั้นตอนการคัดสรรเมล็ดกาแฟ และกรรมวิธีนั้น บาริสต้าอินดี้ฮิปสเตอร์คนนี้ขอไม่กล่าวถึงเพราะมันจะละเอียดยิบย่อยจนเกินไป  จึงขอเก็บไว้ว่ากันในโอกาสต่อไป

เมื่อเข้าร้านกาแฟที่เมลเบิร์น ไม่มีใครมานั่งเลือกเมนูกาแฟว่าวันนี้อยากกินกาแฟอะไร แต่จะทราบเลยว่า “อยากจะดื่มอะไร ก่อนจะเข้าร้านด้วยซ้ำ”  ดังนั้น ทันทีที่ได้รับเมนูอาหาร พนักงานก็จะถามทันทีว่า “Would you like to order coffee to start?” หรือ  “Would you like coffee to start?” จะสังเกตได้ว่าถ้าไม่มั่นใจว่าจะสั่งอะไรทันทีก็จะกลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกเลยว่า “คุณเป็นนักท่องเที่ยว หรือคนท้องถิ่น” ดังนั้นเรามาทำความรู้จัก “Coffee” กันก่อนเลยครับ ผมขอแบ่งกาแฟเป็นสามแนวด้วยกันคือ กาแฟสำหรับสายตรง สายแข็ง และสายไปแล้ว

กาแฟสำหรับสายตรง (ตรงตามมาตรฐานทั่วไป)

Short Black (Espresso) – กาแฟดำที่เข้มข้น ที่ผ่านกระบวนการสกัดผ่านน้ำร้อนด้วยแรงดันสูงพอๆกับยางรถเลยทีเดียว ไหลรินลงมาในแก้วช็อตเล็กๆ ด้วยปริมาตร 30 ml และสามารถดื่มได้เลย  เหตุใดถึงเรียกว่า “Espresso” [Espresso มาจากภาษา Italian ซึ่งแปลว่า “ด่วน” หรือ “ รีบเร่ง”]  และเจ้าช็อตเอสเพรสโซ่นี่แระเป็นตัวหลักหรือเรียกได้ว่าเป็น “พระเอก” ของอีกหลายเมนูแสนอร่อย ส่วนใหญ่ผู้คนในเมลเบิร์นมักเรียก เอสเพรสโซ่ ว่า Short Black

Pixabay
Espresso

Long Black (Americano) – หรือที่เข้าใจกันในอีกชื่อคือ Americano – “ลอง แบล็ค” บาริสต้าจะเทน้ำร้อนลงไปในถ้วยก่อน หลังจากนั้นจะทำกาแฟ 2 ช็อตใส่ลงไปบนน้ำร้อน ทำให้เกิดครีม่าของกาแฟเกิดขึ้นด้านบน (ฟองสีน้ำตาลทอง) โดยชื่อ Americano นี้ได้มาจากชาวอิตาเลี่ยนเรียกทหารอเมริกันกันสมัยสงครามโลก เพราะทหารอเมริกัน ดื่มกาแฟ Espresso แล้วรสชาติกาแฟเข้มข้นไป จึงนำน้ำมาเติมเพื่อลดความเข้มลง กลายมาเป็นเมนูกาแฟ Amaricano (โดย Italiano ก็ยังส่ายหัวกับการกินกาแฟแบบนี้ของทหารอเมริกัน)

Long Black
Americano White Cup Coffee Shop Cafe Drink Coffee

Cappuccino – หนึ่งช็อตกาแฟ ผสมนม ส่วนด้านบนจะมีฟองนมนุ่มๆ พร้อมกับโรยผงช็อคโกแลตเบาๆ เมนูนี้ได้ชื่อมาจากลักษณะเหมือนศรีษะของนักบวชนิกายคาปูชิน (Capuchin monk)  แต่เดิมไม่ได้โรยผง chocolate แต่ใช้ crema สีน้ำตาลทอง ซึ่งเป็นส่วนที่มีรสชาติขม หลังจากนั้นจึงหันมาใช้ผง chocolate โรยแทนเพื่อทำให้รสชาติน่าดื่มขึ้น ดังนั้น บางร้านที่เมลเบิร์นยังคงความดั้งเดิมนี้ไว้  โดยไม่โรย chocolate ถ้าเด็กออสคนไหนเจอกับตัวไม่ต้องตกใจกันนะครับ

wikimedia&pxhere
Cappuccino monk vs Cappuccino

Latte (Café Latte) – หนี่งช็อตกาแฟ ผสมนม ด้านบนจะมีฟองนมนุ่มๆ เช่นเดียวกับคาปูชิโน่ แต่…ฟองนมจะน้อยกว่าคาปูชิโน่ไม่มาก  ชื่อนี้ได้มาจากการดื่มการแฟของชาวฝรั่งเศสที่นำนม ไปใส่ espresso ชาว italian ชอบดื่มมาก และเรียกว่า Café Au Latte อันที่จริงหากสั่ง Latte เฉยๆนั้นหมายความว่าสั่งนม 1 แก้ว ถ้าจะเรียกให้ถูก คือต้องสั่งกาแฟดังนี้ “May I please order Café Latte, thank you” 

ลาเต้ยังเป็นกาแฟแห่งศิลปะอีกด้วย ฮั่นแน่!!!  สงสัยกันล่ะซิว่าจะเป็นกาแฟแห่งศิลปะได้ยังไง? บาริสต้าบางท่านจะมีการทำลาเต้อาร์ต คือการใช้นมร้อนเทลงไปในแก้วที่มีช็อตกาแฟอยู่ โดยมีเทคนิคการเทให้เกิดลวดลาย หรือบางท่านจะมีการตกแต่งโดยใช้เหล็ก หรือไม้จิ้มฟันวาดรูปด้านบนผิวกาแฟเป็นรูปต่างๆ อีกด้วย

Processed with VSCO with a9 preset

Flat White – กาแฟตัวนี้จะคล้ายลาเต้ แตกต่างกันตรงที่แฟลทไวท์เป็นกาแฟที่ไม่มีฟองนม หรือมีแต่น้อยมาก จะค่อนข้าง “Flat”  และ “White” หมายถึงนม คือ การเทช็อตกาแฟลงในแก้วและเทนมอุ่นที่ค่อนข้างเป็นครีมลงไปตรงกลางช็อตกาแฟ

Pixabay
Flat White

Mocha (Mochaccino) – Mocha คือ Hot Chocolate ใส่ ช็อตกาแฟ นมร้อน 1 ส่วน ปิดด้วยวิปครีม พร้อมโรยผง chocolate แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากวิปครีมเป็นฟองนม เราจะเรียกว่า “Mochaccino” 

Short/Long Mac (Short/Long Macchiato) –  Macchiato ที่แปลว่า Stain (คราบ) ฟังแล้วอาจจะดูไม่น่าดื่ม แต่มันคือกาแฟ espresso  ที่ใส่นมลงไปน้อยมากๆ จนเรียกได้ว่ามันคือคราบนมเลยที่เดียว สำหรับชาวเมลเบิร์นแล้ว Macchiato มี 2 แบบคือ “Short Mac” หรือ “Long Mac” ความต่างก็จะคล้ายๆกับการเอานมในปริมาณน้อยนิดใส่ Short Black กับ Long Black นั่นเอง สำหรับตัวบาริสต้าเอง ถ้ามีลูกค้าสั่งเมนูนี้ จะเกร็งเลยทีเดียว เพราะกลัวว่าจะใส่นมเยอะเกินไปจนทำให้กาแฟไม่เข้มตามความต้องการของคอกาแฟ

Pxhere
Macchiato

กาแฟสำหรับสายแข็ง คอกาแฟรสเข้มเท่านั้น 

Ristretto  หรือ  Restriction –  ที่หมายความว่าจำกัด จะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ Espresso ที่ถูกจำกัดเอา 15 ml แรกที่เป็นหัวกาแฟเท่านั้น นักดื่มสายแข็งจะชอบหัวกะทิ  เอ๊ย!!! หัวกาแฟตัวนี้เป็นพิเศษ เพราะมันเหมือนหมัดหนักๆกระแทกสู่ต่อมรับรสอย่างรุนแรงและรวดเร็วเลยทีเดียว

Magic Coffee เป็นแนวกาแฟที่ Melbournian เป็นผู้คิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เอง มันคือ ¾ flatwhite ที่ใช้ double ristretto แทน short black นั่นเอง มันไม่ได้ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่ชื่อนี่ทำให้มันฟังดูแพง และฮิปเสตอร์ขึ้นมาทันที

Double rizz –  เป็นน้องของ Magic Coffee ที่ทำให้เป็น Latte หรู แทนที่จะเป็น Flat white

เมื่อต้องทำ Magic coffee หรือ Double Rizz ทำให้รู้สึกว่าบาริสต้าเมลเบิร์นเริ่มจะอยู่ยากขึ้นไปทุกปี ปีนี้เจอกาแฟ Dirty Chai Latte (คือ กาแฟใส่ลงไปใน Chai Latte) ลุ้นว่าปีหน้า เมืองสายอาร์ทอย่างเมลเบิร์น จะรังสรรค์กาแฟรสชาติแบบใดให้ได้ทำและลองลิ้มรสกันอีก 

กาแฟสำหรับสาย…ไปแล้ว ตอนนี้ไม่เป็นที่นิยมคือ

กาเลา (Galao) – เป็นกาแฟสไตล์โปรตุเกส ค่อนข้างคล้ายลาเต้ จะแตกต่างตรงฟองนม โดยบาริสต้าจะเทช็อตกาแฟลงไป 1/4 ส่วน อีก 3 ส่วนจะเป็นฟองนม รสชาติจะกลมกล่อมละมุนๆ

wikimedia
Galão

เอสเพรสโซ่ คอน ปันนา (Espresso con panna) – กาแฟตัวนี้จะเหมาะกับที่คนชอบความเข้มข้นของกาแฟ แต่ก็ชอบการตัดรสชาติที่ค่อนข้างมัน แต่ไม่หวานจนเกินไปจากวิปครีม เอสเพรสโซ่ คอน ปันน่า นั้น บาริสต้าจะเทช็อตกาแฟ1 หรือ 2 ช็อต แล้วแต่เราเลือกลงไป หลังจากนั้นบาริสต้าจะบีบวิปครีมลงบนช็อตกาแฟทันที

Staticflickr
Espresso con panna

เวียนนา (Vienna) – เวียนนา เกิดจากการผสมผสาน Long Black และใส่วิปครีมไว้ด้านบน ใครที่ต้องการรสชาติกาแฟแบบเข้มข้น แต่ต้องการเพิ่มความมันและไม่หวานมาก ลองกาแฟตัวนี้ดูนะครับ

คาเฟ่ เมอร์ลอน (Cafe Melange) – กาแฟชนิดนี้จะได้รับความนิยมค่อนข้างในแถบยุโรป ใครที่ไปเที่ยวแล้วไม่ได้ลิ้มลอง คาเฟ่ เมอร์ลอน อาจจะถูกเรียกว่าไปไม่ถึงยุโรปก็เป็นได้ คาเฟ่ เมอร์ลอน เป็นการใช้กาแฟเอสเปรสโซ่ 2 ช็อต เทลงไปในแก้ว และปิดด้วยวิปครีม

เมนูกาแฟทั้งหมดนี้เป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เมนูแนะนำที่ต้องลอง คงจะเป็นเมนูไหนไม่ได้ นั้นก็คือ Ristretto, Magic coffe, Double rizz หรือจะเมนูสายตรงที่เป็นที่นิยม เช่น Espresso, Café Latte หรือ Short/Long Mac  ซึ่งเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในเมลเบิร์น รอบนี้ขอเน้นเป็นกาแฟร้อนนะครับ รอบหน้าเราจะมารู้จักเมนูเย็นๆ ชื่นใจรับซัมเมอร์กันบ้าง อย่าลืมไปลิ้มลองรสชาติกันนะครับผม บาริสต้าคนนี้ขอไปทำ “Dirty Chai Latte” ดื่มเองก่อนนะครับ

ตัวอย่างร้านกาแฟที่เด็กอ้วน (หนึ่งในทีมเด็กออสเคยไปทานและรีวิวไว้)

 The Resident – Ashburton

Steam Junkies – Brunswick

 St. Martin’s

Tags

Madam Bimbo

Live wisely so you can travel the hell whole world however you like.

Leave a Reply

Back to top button
Close