Featured Articlesเรื่องควรรู้ เมื่ออยู่เมลเบิร์น

สิทธิมนุษยชน ในออสเตรเลีย

ในประเทศออสเตรเลีย มีเพื่อนๆชาวไทยจำนวนมากมาย ที่ต้องจากประเทศไทย เพื่อมาสร้างครอบครัว หรือหางานทำที่นี่ และก็มีเพื่อนชาวไทยจำนวนไม่น้อย ที่ถูกทารุณกรรม เอารัดเอาเปรียบ จนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แต่อย่าลืมนะคะ ว่าความเป็น “คน” นั้นมีกฎหมายคุ้มครอง ยกตัวอย่างเช่น หากโดนสามีทำร้าย คุณได้ความคุ้มครองนะคะ ถึงแม้ว่าคุณจะอยู่โดยไม่ถูกกฎหมายก็ตาม สิ่งนี้เรียกว่า สิทธิมนุษยชน ค่ะ

บทความในวันนี้ จึงขอหยิบ สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นของทุกคนในโลกนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าคุณจะมาจากไหน มีความเชื่อพื้นฐานอย่างไร หรือ เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างไร ไม่มีใครเอาสิทธิมนุษยชนไปจากคุณได้ แต่ บางครั้งสิทธิมนุษยชนอาจจะถูกจำกัด – เช่นคนผู้นั้นทำผิดกฎหมายหรือมีผลต่อความปลอดภัยแห่งชาติ

สิทธิมนุษยชน
Nazia Hookum Darr, 16 years old, was brutally attacked here by her 40-year-old husband of three months on Christmas day. The man, who is still on the run from police, broke 16 of his wife’s teeth, shaved her head, cut off her nose and ears and poured scalding water on her hands and feet. The young woman is set to receive plastic surgery in Kabul following close coordination between the Afghan government and Provincial Reconstruction Team Qalat, a joint U.S. Air Force and Army unit there. (Air Force photo/Lt. Col. Michael Gauron)

 

สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับคุณค่าต่างๆเช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความเคารพซึ่งกันและกัน และความเป็นอิสระ แต่สิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเพียงแค่นามธรรม -เพราะมีการกำหนดและการคุ้มครองตามกฎหมาย
สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือสิ่งที่จําเป็นขั้นพื้นฐาน ต่อการอยู่รอดและพัฒนาตัวเอง ได้แก่ : การมีปัจจัย 4 การใช้ ชีวิตอย่างเสรีและมั่นคงปลอดภัย มีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น หรือชุมนุมโดยสันติ มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา การประกอบอาชีพ มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ถูกทรมานหรือทำร้ายร่างกาย ไม่ ถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือดูหมิ่น เหยียดหยาม ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเสมอภาค ได้เรียนหนังสือและรับรู้ข่าวสารต่างๆ เข้าถึงบริการสาธารณะและได้รับสวัสดิการสังคม

สิทธิมนุษยชนช่วยคุณได้อย่างไร

สิทธิมนุษยชนมีความเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ต้องเผชิญกับการถูกควบคุมหรือถูกทารุณ สิทธิมนุษยชนยังช่วยปกป้องคุณในหลายๆเรื่องในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น
  • สิทธิในการมีชีวิตส่วนตัวและครอบครัว ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของคุณและ
  • สิทธิที่คุณจะไม่ถูกทำร้ายหรือถูกลงโทษอย่างผิดพลาดโดยรัฐ

สิทธิมนุษยชน มาจากไหน?

ความเหี้ยมโหดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การก่อตัวของสหประชาชาติที่มีประเทศสมาชิกกว่า 50 ประเทศ ได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม คศ 1948 และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day)
นี่เป็นความพยายามครั้งแรกที่มีการกำหนดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระดับสากลเพื่อใช้ร่วมกันโดยมนุษย์ทุกคน ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินี้
สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี กล่าวคือ เป็นสนธิสัญญาที่มีรัฐมากกว่าสองรัฐขึ้นไปเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ซึ่งกระบวนการในการทำสนธิสัญญามีหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การเจรจา การให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผู้พันตามสนธิสัญญาโดยการลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ และบางรัฐอาจตั้งข้อสงวน หรือตีความสนธิสัญญา และเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำสัญญาครบถ้วนแล้ว ภาคีก็มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่อไป การเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดในทางระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อประเทศใดเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศนั้นก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาดังกล่าว

ในปัจจุบันประเทศออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทย เป็นภาคีสนธิสัญญา ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหประชาชาติถือเป็นสนธิสัญญาหลักจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่:

1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)
2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights)
3. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination)
4. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women)
5. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)
6. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)
7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities)
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ถ้าสังคมสร้างงวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ จะไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในทางตรงกันข้าม ถ้าสังคมสร้างวัฒนธรรมที่ไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ จะมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น
  • ละครไทยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นฉากนางเอกและตัวอิจฉาตบตีรังแกกัน หรือฉากการละเมิดสิทธิสตรี มีการทารุณ ตบตี หรือข่มขืนนางร้าย เป็นต้น การที่เห็นฉากแบบนี้จนเคยชิน อาจเป็นการส่งเสริมหรือถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม
  • วัฒนธรรมที่สตรีมีสถานภาพด้วยกว่าชาย ชายเป็นช้างเท้าหน้า หญิงเป็นช้างเท้าหลัง
  • ประเพณีการขลิบผู้หญิงในโซมาเลีย (Female Genital Mutilation)
  • ประเพณีฮาโลล่า (Hlola) ในแอฟริกาใต้ ที่มีการตรวจเยื่อพรหมจรรย์หาสาวบริสุทธิ์และะออกใบรับรอง
นอกจากวัฒนธรรมแล้ว ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีให้เห็นในชีวิตประจำวันทั้งจากภาครัฐและการละเมิดซึ่งกันและกัน เช่น
  • ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ
  • ปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิทางทรัพย์สิน
  • ปัญหาการค้ามนุษย์ โสเภณี โสเภณีเด็ก
  • ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก
  • ปัญหาการทุจริต
  • ปัญหาผลกระทบจากโครงการรัฐ
  • ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

เราควรตระหนักและหวงแหน “สิทธิ” ที่เราควรจะได้รับ และควรตระหนักถึง “หน้าที่” ที่เราควรจะปฏิบัติต่อผู้อื่น

มาถึงตรงนี้ทุกท่านคงจะได้รู้แล้วว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร และอาจจะพอมองเห็นภาพของปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องและคุ้มครองภายใต้แต่ละอนุสัญญาหรือกติกาที่กล่าวมาด้านบน บทความหน้าเราจะเอาเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆด้านมาให้อ่านกันค่ะ
คุณคิดยังไงกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนนี้? คุณมีปัญหาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือพบเห็นผู้ใดถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? และคุณรู้หรือไม่ว่าคุณควรจะทำอย่างไรต่อไป? บอกกล่าวให้เรารู้ได้ในคอมเม้นต์ด้านล่างนะคะ
ขอบคุณที่อ่านนะคะ หากได้ความรู้กรุณาช่วยกันแชร์เพื่อสังคมที่ดีขึ้น จักขอบพระคุณมากๆค่ะ
ขอขอบคุณ คุณกวาง Chutima Jackson จาก THAI WOMEN’S FRIENDSHIP CENTRE
สำหรับบทความดีๆ ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ
Thai Women's Friendship Centre
Thai Women’s Friendship Centre, Melbourne

 

ศูนย์ช่วยเหลือสตรีไทยในเมลเบิร์น ทั้งปัญหาที่ต้องการแลกเปลี่ยนกัน รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว

ขณะนี้ ทางมูลนิธิมี Play group ที่คุณแม่และลูกสามารถมาพบเพื่อนใหม่ได้ ทุกวันอังคาร 10.30 น. เป็นต้นไป ที่ Springvale Rise Primary School รวมถึงกิจกรรมอาสาสมัคร และปลูกผักสวนครัว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยค่ะ

Facebook : https://www.facebook.com/thaiwfa/

อ้างอิง

1. Australian Human Rights Commission. What are human rights?. Available from: https://www.humanrights.gov.au/abou…
2. ครูรุจน์ หาเรือนทรง. สิทธิมนุษยชน (Human Rights). Available from: http://www.sw2.ac.th/images/user/ro…
3. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. พันธกรณีระหว่างประเทศ. Available from: http://www.nhrc.or.th/Human-Rights-…
Tags

Leave a Reply

Back to top button
Close